การนอนหลับ ถือเป็นกระบวนการทางสรีรวิทยาพื้นฐานตามธรรมชาติ ที่สอดคล้องตามจังหวะหรือนาฬิกาทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต เพื่อไปซ่อมแซมและฟื้นฟูหน้าที่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้เจริญเติบโต แข็งแรงเป็นปกติ
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน กล่าวว่า กลไกการตื่นและนอนหลับเป็นไปตามการเพิ่มขึ้นและลดลงของอินและหยาง กล่าวคือ อินเพิ่มขึ้นมากจะทำให้นอนหลับ หากหยางเพิ่มขึ้นมากจะทำให้ตื่น (阴气盛则寐 (入眠),阳气盛则寤 (醒来)
คัมภีร์โบราณของการแพทย์แผนจีน “หลิงซู” มีการระบุถึงวิถีการนอนหลับเพื่อสุขภาพเอาไว้ว่า
《灵枢》 “人与天地相参也,与日月相应也”
“มนุษย์อยู่ร่วมฟ้าดิน เป็นหนึ่งเดียว
แปรเปลี่ยนสอดคล้องกับดวงอาทิตย์และพระจันทร์”
หมายถึง จักรวาลภายนอกและภายในร่างกายของเรานั้นเป็นหนี่งเดียว มีเพียงการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติเท่านั้น จึงเป็นหนทางแห่งการมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ความต้องการในการนอนหลับของคนเราจึงขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ยิ่งอายุน้อยยิ่งต้องนอนหลับมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระยะเวลาหรือจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยของการนอนที่เหมาะสมสำหรับวัยผู้ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน
ช่วงอายุ | เวลานอนที่หมาะสม(ชั่วโมง) | |
ทารกแรกเกิด | วัย 0-3 เดือน | 14 – 17 |
ทารก | วัย 4-11 เดือน | 12 – 15 |
วัยหัดเดิน | อายุ 1-2 ขวบ | 11 – 14 |
วัยอนุบาล | อายุ 3-5 ขวบ | 10 – 13 |
วัยประถม | อายุ 6-13 ปี | 9 – 11 |
วัยรุ่น | อายุ 14-17 ปี | 8 – 10 |
วัยผู้ใหญ่ตอนต้น | อายุ 18-25 ปี | 7 – 9 |
วัยผู้ใหญ่ | อายุ 26-64 ปี | 7 – 9 |
วัยสูงอายุ | อายุ 65 ปีขึ้นไป | 7 – 8 |
ที่มา: American National Sleep Foundation Recommended sleep.
เวลาเข้านอนที่เหมาะสม ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้ระบุไว้ว่า “ 天人合一 ” คือ มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยช่วงเวลาเข้านอนและตื่นนอนที่เหมาะสมจะต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาตินั้นคือ พระอาทิตย์ขึ้นเราตื่น – พระอาทิตย์ตกเราพัก ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมของการตื่นและเข้านอน คือ ช่วงเวลาระหว่าง 5.00-21.00 น. ซึ่งในคัมภีร์ฯ ยังได้กล่าวอีกว่า การนอนก่อนเวลา 23.00 น. ถือเป็นเวลาเข้านอนที่ดีที่สุด เนื่องจากการนอนหลับในช่วงเวลาที่พลังอินมากสุดจะทำให้หลับสนิทและหลับลึก ซึ่งช่วงเวลาที่อินสูงสุดอยู่ในช่วงเวลา 23.00-1.00 น.(子时)
- ช่วงเวลา 21.00 – 23.00 น. เป็นเวลาของเส้นลมปราณซานเจียว ซึ่งซานเจียวจะเชื่อมต่อกับเส้นเลือดทั่วร่างกาย หากเราเริ่มเข้านอนในเวลานี้ หลอดเลือดทั่วร่างกายก็จะได้การหล่อเลี้ยง และการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพยังช่วยทำให้ผิวพรรณของเรางดงามและอ่อนเยาว์ขึ้นอีกด้วย
- ช่วงเวลาระหว่าง 23.00 – 3.00 น. เป็นเวลาของเส้นลมปราณตับและถุงน้ำดี ถือเป็นช่วงเวลาทองของการนอนหลับเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกาย และเพื่อให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่ตับอย่างเพียงพอ และรักษาการทำงานของตับและถุงน้ำดีให้ทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงที่ Growth hormones หลั่งได้ดีที่สุด ซึ่งฮอร์โมนนี้ จะทำให้ร่างกายหลับลึกและได้รับการพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ และช่วยให้การซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
มาตรฐานการนอนหลับที่ถือว่ามีคุณภาพ
1. เข้าสู่สภาวะนอนหลับได้เร็ว หลังจากเข้านอน 5 – 15 นาที
2. นอนหลับสนิทและหลับลึก หายใจสม่ำเสมอ ไม่มีเสียงกรน ไม่สะดุ้งตื่นง่าย
3. ไม่ตื่นในช่วงระหว่างการนอนหลับ ฝันน้อย ไม่ตกใจตื่นจากความฝัน
4. ตื่นนอนไว และตื่นตอนเช้าร่างกายรู้สึกเบาสบาย จิตใจปลอดโปร่งมีชีวิตชีวา
5. สมองแจ่มใสตลอดทั้งวัน การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ง่วง ไม่อ่อนเพลีย

การนอนหลับเพื่อบำรุงสุขภาพ
ช่วงที่หยางเพิ่มสูงที่สุด คือช่วงกลางวัน เวลา 11.00 – 13.00 น. (午时) ถือเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่านจากหยางไปสู่อิน จึงควรงีบหลับสั้น ๆ เพียง 15 นาที – 1ชม. จะช่วยบำรุงพลังลมปราณหยาง และปกป้องบำรุงพลังลมปราณอิน รวมถึงปรับสมดุลอินหยางในร่างกาย
ช่วงที่อินเพิ่มสูงที่สุด คือช่วงกลางคืน เวลา 23.00 – 1.00 น. (子时) ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมกับการนอนหลับมากที่สุด เพราะ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากอินไปสู่หยาง และการเข้านอนก่อน23.00 และนอนหลับสนิทในช่วงเวลานี้จะช่วยบำรุงพลังลมปราณอิน (อินชี่) ปกป้องบำรุงพลังลมปราณหยาง (หยางชี่)
子时大睡 ,午时小憩
ช่วงอินสูงสุดควรนอนหลับให้เพียงพอ, ช่วงหยางสูงสุดควรงีบหลับสักเล็กน้อย